วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Jules Verne


ฌูล กาเบรียล แวร์น (ฝรั่งเศส: Jules Gabriel Verne) (8 กุมภาพันธ์, พ.ศ. 2371 - 24 มีนาคม, พ.ศ. 2448) หรือที่รู้จักกันว่า จูลส์ เวิร์น เกิดที่เมืองน็องต์ (Nantes) ประเทศฝรั่งเศส เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สมัยแรก ๆ แวร์นมีชื่อเสียงจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยในอวกาศ ใต้น้ำ และการเดินทางต่าง ๆ ก่อนจะมีการประดิษฐ์เรือดำน้ำหรืออากาศยานจริง ๆ เป็นเวลานาน นวนิยายของเขามักใส่เนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่สมจริง ซึ่งยังไม่คุ้นเคยกันในสมัยนั้นแต่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างดีในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะบุกเบิกงานด้านนิยายวิทยาศาสตร์ แต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื้อหาแนวอื่น ๆ ที่เขาเขียน

บทประพันธ์ที่สำคัญได้แก่ Around the World in Eighty Days, Five Weeks In a Balloon, 20,000 Leagues Under the Sea นิยายวิทยาศาสตร์ในยุคท้าย ๆ ของแวร์นจะเริ่มสะท้อนถึงการมองเห็นด้านมืดของเทคโนโลยีรวมถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างผิดทาง เช่น The Clipper of the Clouds, The Master of the World แวร์นเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2448 ภายเขาได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลก" ร่วมกับ เฮช. จี. เวลล์ (Herbert George Wells) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งนักเขียนทั้งสองคนนี้ได้มีอิทธิพลต่อนิยายวิทยาศาสตร์และวงการวิทยาศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันนี้

ชื่อของฌูล แวร์น ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของยานขนส่งอัตโนมัติ (Automated Transfer Vehicle - ATV) ลำแรกขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งจะทำหน้าที่ขนส่งพัสดุรวมทั้งต้นฉบับนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

Moulin Rouge


มูแลงรูจ! (อังกฤษ: Moulin Rouge!) เป็นภาพยนตร์เพลงเรื่องที่สามในภาพยนตร์ชุดไตรภาค "The Red Curtain Trilogy" ของบาซ เลอห์มานน์ ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 เขียนบทโดยเลอห์มานน์ ดัดแปลงจากเรื่องของออร์ฟูและออริดิซี ในตำนานเทพปกรณัมกรีก และจากอุปรากรเรื่อง La Traviata ของจูเซปเป แวร์ดี
ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา และได้รับรางวัลสองสาขา จากการออกแบบเครื่องแต่งกาย และการออกแบบฉาก โดยแคเทอรีน มาร์ติน (ภรรยาของเลอห์มานน์) และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ตลกและเพลง) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (นิโคล คิดแมน) และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และได้รับรางวัลบาฟตา สาขานักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (จิม บรอดเบนท์)
เรื่องย่อ
เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ที่โรงละครมูแลงรูจ ย่านมองมาร์ต ในกรุงปารีส ซึ่งมีจุดเด่นที่อาคารโรงละครเป็นรูปกังหันลม (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า มูแลงส์)
กวีและนักเขียนหน้าใหม่ชาวอังกฤษชื่อ คริสเตียน (รับบทโดย แมคเกรเกอร์) ได้รับการชักชวนจากตูลูส-โลแตร็ก (รับบทโดย เลกูซิอาโน) ให้เขียนบทละครเพลงเรื่องใหม่ให้กับคณะคาบาเรต์ของแฮโรลด์ ซิดเลอร์ (รับบทโดย บรอดเบนท์) ชื่อเรื่อง "Spectacular Spectacular" เขามีความรักกับ ซาทีน (รับบทโดย คิดแมน) นางเอกระบำแคนแคนและหญิงงามเมืองในคณะของซิดเลอร์ ละครเพลงเรื่องใหม่นี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากท่านดยุคแห่งมอนร็อธ (รับบทโดย ร็อกซ์เบิร์ก) โดยมีเงื่อนไขว่าซาทีนจะต้องตกเป็นนางบำเรอของท่านดยุคก่อนจะเปิดการแสดงรอบแรก
ละครเพลง Spectacular Spectacular ที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง เป็นละครเพลงแบบโบฮีเมีย คือมีเนื้อเรื่องในอุดมคติเกี่ยวกับความจริง ความสวยงาม อิสรภาพ และความรัก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดีย เกี่ยวกับนางบำเรอของมหาราชาอินเดีย ที่ลักลอบมีความรักกับนักเล่นซีตาร์พเนจร เปรียบเทียบกับความรักของซาทีน กับคริสเตียน และดยุค
ก่อนการแสดงรอบแรกจะเริ่มขึ้น ดยุคพบความจริงว่า คริสเตียนกับซาทีนลักลอบมีความสัมพันธ์กันตลอดมา จึงยื่นคำขาดกับซิดเลอร์ ให้กำจัดคริสเตียนให้พ้นทาง มิฉะนั้นจะให้ลูกสมุนสังหารคริสเตียนเสีย ซาทีนจึงบอกกับคริสเตียนว่า เธอเลือกที่จะแต่งงานกับดยุค เช่นเดียวกับในเรื่อง Spectacular Spectacular ที่นางสนมเลือกอภิเษกกับมหาราชา แทนที่จะเป็นนักเล่นซีตาร์ ทั้งนี้เพื่อผลักไสให้เขาเดินออกไปจากชีวิตของเธอ และไม่ถูกสมุนของดยุคสังหาร
ด้วยความคับแค้นใจ คริสเตียนกลับมาขึ้นบนเวทีระหว่างการแสดงรอบแรก ในชุดแต่งกายของนักเล่นซีตาร์ เขาประกาศตัดสัมพันธ์กับซาทีนต่อหน้าผู้ชมทั้งโรงละคร แล้วเดินจากไป แต่เมื่อซาทีนร้องเพลง "Come What May" เพลงที่ทั้งคู่เคยตกลงกันว่าจะใช้แสดงความรักต่อกัน ในตอนท้ายของการแสดง ทั้งคริสเตียนและซาทีนก็รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย
การแสดงละครรอบแรกสำเร็จลงด้วยดี ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชม แต่ซาทีนก็เสียชีวิตลงหลังการแสดงจบ จากอาการป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรัง ในอ้อมกอดของคริสเตียน ก่อนตายเธอให้เขาสัญญาว่า จะเขียนเรื่องราวความรักระหว่างคนทั้งคู่ เกี่ยวกับ "สิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้เรียนรู้ คือการได้รัก และถูกรักตอบ"
หนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของซาทีน คริสเตียนได้เริ่มเขียนบทละคร พรรณนาความรักของเขากับซาทีน ชื่อเรื่องว่า "มูแลงรูจ"

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

The Khaju Bridge



The Khaju Bridge อยู่ที่ประเทศอิหร่าน เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเมื่อศตวรรศที่ 17 เป็นสะพานที่ไม่ธรรมดาทำหน้าที่ของมันมายาวนาน ตั้งอยู่ที่เมือง Esfahan ซึ่งเป็น เมืองหลวงเก่าของอิหร่านเ สะพาน Kaju ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งสะพานและเขื่อนกั้นน้ำไปพร้อมๆกัน สร้างในสมัย Shah Abbas ที่ 2 แห่งราชวงศ์ Safavid ราวปี 1650 เป็นสะพานที่สวยที่สุดในเมือง Esfahan ใช้เป็นทางสัญจรสำหรับกองคาราวานในอดีต และเป็นที่นั่งชมการละเล่นกีฬาทางน้ำ ดูดอกไม้ไฟของ Shahและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเป็นที่เดินเล่นและร้านน้ำชาบนชั้นสอง สะพาน Khaju ก่อสร้างเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำ the Zayandeh-Rud และเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำต่อจากสะพาน Allahverdi Khan ที่อยู่ต้นน้ำ เป็นอาคารสองชั้น สะพานยาว ๑๓๒ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร มีช่องระบายน้ำ ผ่านระหว่างเสาต่อหม้อ ด้านหน้าอาคารและเพดานโค้ง มีทางเดินนอกสะพาน และมีบันไดลงแม่น้ำ(ด้านหลังเขื่อน)

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สวนลอยบาบิโลน(Hanging Gardens of Babylon)


การรังสรรค์งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ของผู้คนในอดีตนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง เนื่องจากวิทยาการด้านงานก่อสร้างในอดีตไม่อาจเทียบเท่าปัจจุบันได้เลย เราจะเห็นได้จากร่องรอยสิ่งก่อสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เรามิอาจรู้ได้เลยว่าแท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการก่อสร้างสิ่งต่างๆ นั้นคืออะไร และได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งใด สวนลอยบาบิโลนคือ อีกสถานที่หนึ่งที่ยังคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์และเป็นเครื่องหมายของความเจริญทางด้านการ
ชลประทานที่สามารถทำให้สวนพืชพันธุ์ต่างๆ มีความชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปี ความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของสวนลอยบาบิโลนสร้างความประทับใจต่อผู้ที่ได้พบเห็น และกลายเป็นคำร่ำลือมาจนถึงปัจจุบัน

สวนลอยบาบิโลนนั้นสร้างขึ้นโดย พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรแคลเดียน ขึ้นครองราชย์เมื่อ 605 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงทำสงครามและธำรงค์บ้านเมืองให้มีความยิ่งใหญ่ อาณาเขตภายใต้การปกครองของพระองค์นั้นครอบคลุมบริเวณทั้งหมดที่เรียกว่า " ดินแดนเสี้ยวจันทร์อันอุดม " หมายถึง อาณาบริเวณนับตั้งแต่เยรูซาเล็มจรดอ่าวเปอร์เซีย ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์

นครบาบิโลนได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ให้มีความยิ่งใหญ่อีกครั้งบนสองฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส สิ่งก่อสร้างที่สำคัญๆตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก กำแพงด้านนอก 2 ชั้น ซึ่งยาว 18 กม. โอบล้อมอาณาบริเวณแม่น้ำยูเฟรติส มันใช้เป็นที่หลบภัยสำหรับชาวบ้านและฝูงสัตว์เลี้ยงในยามเกิดศึกสงคราม แนวป้องกันชั้นนอกมีป้อมบาบิล ช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางตอนเหนือของอาณาจักร ปัจจุบันป้อมบาบิลยังคงตั้งตระหง่านมีความสูงถึง 22 เมตร ในอดีตมันเคยเป็นที่ตั้งพระราชวังฤดูร้อนของพระมหากษัตริย์ กำแพงชั้นในเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีคลองล้อมรอบเพื่อป้องกันอาณาจักรแคลเดียนหรือดินแ
ดนเมโสโปเตเมีย ทั้งวิหาร พระราชวัง และบ้านเรือน เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ล้อมรอบด้วยแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ล้วนสร้างด้วยอิฐดิบที่ร่วนมากและแทบจะกลืนไปกับพื้นดินโดยรอบ

สวนลอยบาบิโลนสร้างขึ้นราว 600 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ โปรดให้สร้างขึ้นเหนือพื้นดินกึ่งทะเลทราย เพื่อประทานให้กับพระมเหสีซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรมีดส์ หรือ มีเดีย ซึ่งทั้งสองแคว้นเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ก่อนการสถาปนาเป็นอาณาจักรแคลเดียนนั้น ทั้งสองอาณาจักรเคยร่วมกันขับไล่พวกอัสซีเรียออกจากบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริส - ยูเฟรติส ตามตำนานได้กล่าวถึงพระนาง " อามิตัส " ว่าพระนางทรงอาลัยอาวรณ์แคว้นของตนเป็นยิ่งนัก จึงทำให้พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์จำต้องสร้างสวนลอยบาบิโลนขึ้น สวนแห่งนี้ได้จำลองเอาลักษณะภูมิประเทศของแคว้นมีเดียมาเป็นต้นแบบ สร้างโดยก่อเป็นเนินสูงซ้อนกันเป็นชั้นๆ สูงถึง 328 ฟุต หรือประมาณ 100 เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงหนาถึง 23 ฟุต หรือราว 7 เมตร แต่ละชั้นจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและปลูกดอกไม้ พืชพันธุ์ต่างๆ ไว้มากมาย พันธุ์ไม้เหล่านี้ได้รวบรวมเอามาจากทุกมุมโลกเท่าที่จะหาได้ รวมไปถึงไม้ดอกไม้เลื้อย บันไดที่พาขึ้นไปสู่สวนลอยแห่งนี้ มีลักษณะกว้างขวางทำด้วยหินอ่อน ข้างใต้บันไดของแต่ละชั้นนั้นจะมีคานรับน้ำหนักเป็นอย่างดี ข้างบนเฉลียงของสวนจะมีถังน้ำไว้หล่อเลี้ยงน้ำพุ น้ำตก และสายน้ำต่างๆ บนสวนลอย น้ำจำนวนมากเหล่านี้ สูบมาจากแม่น้ำยูเฟรติสด้วยแรงงานทาส โดยการชักน้ำจากเบื้องล่างขึ้นไปสู่ชั้นบนสุดแล้วปล่อยลงมาให้ไหลลงสู่เบื้องล่างของ
แต่ละชั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความล้ำสมัยทางด้านสถาปัตยกรรม และระบบวิศวกรรมการชลประทานในยุคนั้น สวนลอยบาบิโลนจึงมีความงดงามอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอในสมัยของพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่กล่าวขานถึงความยิ่งใหญ่ต่อๆ กันมา เมื่อพ่อค้าได้เดินทางมาค้าขายยังเมืองบาบิโลนได้กล่าวถึงสวนลอยแห่งนี้ว่าอยู่สูงเด่น เห็นได้อย่างชัดเจนแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลออกไป หลายกิโลเมตร

สิ่งก่อสร้างที่สวยงามและยิ่งใหญ่แห่งนี้ เป็นที่เลื่องลือนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่มีสวนดังกล่าวให้เห็นแล้วก็ตาม แต่คำบอกเล่ากล่าวขานยังคงชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่และความสวยงาม เสมือนกับสวนแห่งนี้ยังคงมีอยู่

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วันพ่อแห่งชาติ


ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม

หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ

โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและ สังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวมทั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เรืออากาศเอกวีรยุทธ ดิษยศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์และพระเจ้าหลาน เธอทุกพระองค์ ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรวงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้

ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป


ดอกพุทธรักษา ดอกไม้ประจำวันพ่อ



"พุทธรักษา" ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อจึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว


วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Elton John


ชื่อจริง Reginald Kenneth Dwight
วันเกิด 25 มีนาคม ค.ศ. 1947
แหล่งกำเนิด ลอนดอน,อังกฤษ
แนวเพลง ป็อป,เปียโน-ร็อก,ร็อก
อาชีพ นักร้อง,นักดนตรี,นักแต่งเพลง
ปี ค.ศ. 1967 - ปัจจุบัน

เซอร์เอลตัน จอห์น เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1947 เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ชาวอังกฤษ เอลตัน จอห์นอยู่ในวงการเพลงมานาน 4 ทศวรรษ ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงยุค 70 มียอดขายรวม 250 ล้านชุด มีเพลง Top 40 ในอเมริกามากกว่า 50เพลงรวมถึงมีอัลบั้มอันดับ 1 เจ็ดอัลบั้มติดต่อกัน มีเพลงติด Top 40 23 เพลง, มีเพลงติด Top10 16เพลงและเพลงอันดับ 1หกเพลง
เพลงดังที่เป็นที่รู้จักอย่าง ยัวร์ ซอง (your song) และเพลงประกอบภาพยนตร์ไลออน คิง ล่าสุดเอลตันจอห์นได้ เข้าพิธีวิวาห์กับนายเดวิด เฟอร์นิช แฟนหนุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดา วัย 43 ปี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2548 หลังอังกฤษเปิดโอกาส ให้คู่รักร่วมเพศจดทะเบียนรับรอง การครองชีวิตคู่ได้ตามกฎหมายซีวิล พาร์ตเนอร์ชิป ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 5 ธ.ค.
ปี 1997
เอลตัน จอห์น ได้ดัดแปลงเนื้อร้องของเพลง "Candle in the Wind" เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา เขาได้แสดงเพลงนี้ในพิธีศพของเจ้าหญิง ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ หลังจากนั้น ซิงเกิ้ลเพลง "Candle in the Wind 1997" ได้กลายเป็นซิงเกิ้ลที่ทำยอดขายได้เร็วที่สุดตลอดกาลด้วยยอดขายกว่า 30 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก รายได้ประมาณ 55 ล้านปอนด์จากการขายซิงเกิ้ลนี้ได้มอบให้กับกองทุน Diana, Princess of Wales Memorial Fund นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลแกรมมี่สาขา Best Male Pop Vocal Performance จากซิงเกิ้ลนี้อีกด้วย เอลตัน จอห์น ได้รับการจารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศศิลปินร็อกแอนด์โรลในปี 1994 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาได้รับการเสนอชื่อ 2 รางวัล

รางวัลและเกียรติยศ

เมื่อปี 1992 เขากับเบอร์นี่ ทอพิน ได้รับการจารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักแต่งเพลง ในปี 1995 Elton John ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งสหราชอาณาจักร และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1998 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน อีกทั้งยังทรงพระราชทานยศให้เขาเป็นท่านเซอร์ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2006 บริษัทวอลต์ ดีสนีย์ได้ประกาศให้ Elton John เป็นตำนานแห่งดีสนีย์ ซึ่งเป็นเกียรประวัติสูงสุดที่ทางดีสนีย์มอบให้เขาในฐานะที่เขาได้สร้างผลงานเพลงเลื่องชื่อมากมายให้กับภาพยนตร์และงานละครของดีสนีย์ เอลตัน จอห์น พิชิตบัลลังก์เพลงป็อปมาไว้ในมือได้แล้ว 2 รางวัล

พี่น้องตระกูลกริมม์ (The Brothers Grimm)


พี่น้องตระกูลกริมม์ (อังกฤษ: The Brothers Grimm; เยอรมัน: Die Gebrüder Grimm) หรือ ยาค็อบ กริมม์ (ค.ศ. 1785-1863) และวิลเฮล์ม กริมม์ (ค.ศ. 1786-1859) นักวิชาการชาวเยอรมันซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังจากผลงานการรวบรวมนิทานพื้นบ้านและเทพนิยาย รวมถึงผลงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา (กฎของกริมม์ หรือ Grimm's Law) นับว่าเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป ซึ่งทำให้เทพนิยายมากมายแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น รัมเพลสทิลสกิน, สโนไวท์, ราพันเซล, ซินเดอเรลล่า และ แฮนเซลกับเกรเธล
ประวัติ
เจค็อบ ลุดวิจ กริมม์ และ วิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1785 และ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ตามลำดับ ที่เมืองฮาเนา ใกล้กับเมืองแฟรงค์เฟิร์ต แคว้นเฮสเซน พวกเขามีพี่น้องทั้งหมด 9 คน แต่มีชีวิตรอดเติบโตมาเพียง 6 คน ชีวิตในวัยเด็กของพวกเขาอยู่ในแถบชนบทอันงดงามร่มรื่น ครอบครัวกริมม์พำนักอยู่ใกล้คฤหาสน์ของเจ้าผู้ครองแคว้นระหว่างช่วงปี 1790-1796 เนื่องจากบิดาของพวกเขาเป็นลูกจ้างของเจ้าชายแห่งเฮสเซน
เมื่อเจค็อบซึ่งเป็นบุตรคนโตอายุได้ 11 ปี บิดาของพวกเขาคือ ฟิลิป วิลเฮล์ม ก็ถึงแก่กรรม ครอบครัวจึงต้องย้ายไปอาศัยในบ้านเล็กๆ คับแคบในตัวเมือง สองปีต่อมา ปู่ของพวกเขาก็เสียชีวิต จึงคงเหลือแต่แม่เพียงคนเดียวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูเด็กๆ ยังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พี่น้องกริมม์มักยกผู้เป็นบิดาไว้ไม่ให้มีความผิด ขณะที่ทรราชฝ่ายหญิงมักมีบทบาทสำคัญในนิทาน เช่นแม่เลี้ยงใจร้ายและพี่สาวทั้งสองในเรื่อง ซินเดอเรลล่า แต่ผู้วิจารณ์คงจะลืมไปว่าพี่น้องกริมม์เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมเทพนิยายเท่านั้น ไม่ใช่คนแต่งขึ้นมา

พี่น้องกริมม์ได้รับการศึกษาจาก Friedrichs-Gymnasium ใน Kassel และต่อมาได้เรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยมาร์เบิร์ก และที่นี่ ด้วยแรงบันดาลใจจาก ฟรีดดริค ฟอน ซาวินี (Friedrich von Savigny) ทำให้พี่น้องทั้งสองเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ทั้งคู่เพิ่งมีอายุยี่สิบต้นๆ ในขณะที่เริ่มศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และวางกฎของกริมม์ รวมถึงรวบรวมเรื่องราวเทพนิยายและเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านจากที่ต่างๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างมาก อันที่จริงผลงานรวบรวมนิทานปรัมปราเหล่านี้เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของคนทั้งสอง

ปี ค.ศ. 1808 มีบันทึกว่าเจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ในราชสำนักของกษัตริย์แห่ง Westphalia ปี ค.ศ. 1812 พี่น้องกริมม์ได้ตีพิมพ์ผลงานรวบรวมเทพนิยายของพวกเขาเป็นครั้งแรก ชื่อว่า Tales of Children and the Home ซึ่งพวกเขารวบรวมเรื่องราวมาจากชาวบ้านชนบท เรื่องบางส่วนก็ขัดแย้งกับที่มาของเรื่องอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในวัฒนธรรมอื่นและภาษาอื่น (เช่นงานของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์) พี่น้องกริมม์แบ่งงานกันทำ เจค็อบเน้นที่งานวิจัย ส่วนวิลเฮล์มทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราว นำมาประพันธ์ใหม่ในรูปแบบวรรณกรรมและเขียนบรรยายในลักษณะของนิทานเด็ก พี่น้องทั้งสองยังให้ความสนใจกับนิทานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์กำเนิดของวรรณกรรม ปี ค.ศ. 1816 เจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ใน Kassel ส่วนวิลเฮล์มก็ได้งานที่นั่นเช่นกัน ระหว่าง ค.ศ. 1816 - 1818 ทั้งสองได้ตีพิมพ์ตำนานเยอรมันสองชุด และประวัติวรรณกรรมยุคต้นอีกหนึ่งชุด

ขณะที่พี่น้องกริมม์เริ่มสนใจในภาษาเก่าแก่และความสัมพันธ์ของภาษาเหล่านั้นกับภาษาเยอรมัน เจค็อบเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และโครงสร้างของภาษาเยอรมันอย่างละเอียด ในเวลาต่อมา พวกเขาได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างคำต่างๆ และเรียกชื่อว่าเป็น กฎของกริมม์ โดยได้รวบรวมข้อมูลดิบไว้เป็นจำนวนมาก ปี ค.ศ. 1830 ทั้งสองได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งใน Göttingen หลังจากมีหน้าที่การงานมั่นคงในเมืองนั้น เจค็อบได้เป็นศาสตราจารย์ และเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์ในปี ค.ศ. 1830 ส่วนวิลเฮล์มได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 1835

ปี ค.ศ. 1837 พี่น้องกริมม์ร่วมกับศาสตราจารย์ที่เป็นเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย Göttingen อีก 5 คน ร่วมกันคัดค้านการเพิกถอนรัฐธรรมนูญแห่งรัฐฮันโนเวอร์ของกษัตริย์ เออร์เนสต์ ออกัสตัส ที่หนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านนี้เป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ Die Göttinger Sieben (The Göttingen Seven) ทั้งหมดถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และมี 3 คนที่ถูกเนรเทศ รวมถึงเจค็อบด้วย เจค็อบหนีไปอาศัยอยู่ใน Kassel ซึ่งอยู่นอกอาณาเขตของกษัตริย์เออร์เนสต์ วิลเฮล์มติดตามไปสมทบภายหลัง โดยพำนักอยู่กับลุดวิจ น้องชายของพวกเขา ในปีต่อมาทั้งสองได้รับเชิญจากษัตริย์แห่งปรัสเซีย เชิญให้ไปพำนักอยู่ในเบอร์ลิน และทั้งสองก็ได้ย้ายไปยังเบอร์ลินนับแต่นั้น

ช่วงปลายชีวิตของพวกเขาอุทิศให้กับการจัดทำพจนานุกรมภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ชุดแรกออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1854 และเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงเวอร์ชันต่างๆ ต่อมา เจค็อบครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตของเขา ส่วนวิลเฮล์มได้แต่งงานกับ เฮนเรียตเต โดโรเธีย ไวลด์ (Henriette Dorothea Wild หรือบางแห่งเรียกว่า Dortchen) เมื่อปี 1825 เธอเป็นบุตรีของเภสัชกรซึ่งเป็นเพื่อนกับครอบครัวกริมม์มาตั้งแต่เด็ก ที่ซึ่งพี่น้องกริมม์ได้ฟังนิทานเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง เป็นครั้งแรก วิลเฮล์มมีบุตร 4 คนโดยเสียชีวิตตั้งแต่เด็กไป 1 คน แต่พี่น้องทั้งสองก็ยังสนิทกันมากแม้หลังจากที่วิลเฮล์มแต่งงานแล้วก็ตาม

วิลเฮล์มเสียชีวิตในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1859 เจค็อบยังคงทำงานรวบรวมพจนานุกรมและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตในเบอร์ลินเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1863 ร่างของทั้งสองฝังไว้ที่สุสาน St. Matthäus Kirchhof ใน Schöneberg ในเบอร์ลิน พี่น้องตระกูลกริมม์ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้แพร่หลายกว้างขวางในเยอรมนี และได้รับความเคารพยกย่องเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเยอรมนี ซึ่งต่อมาราชอาณาจักรปรัสเซียได้ก่อการปฏิวัติในช่วงปี 1848-1849 และเริ่มต้นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น