วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ในทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนด้วย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และจะมีสถิติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดตลอดทั้งชีวิต การปั๊มเลือดที่มีสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญ ทั่วร่างกายต้องอาศัยกล้ามเนื้อ และหลอดเลือดหัวใจที่แข็งแรง เมื่อหลอดเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและทำงานลดลง อาจนำไปสู่ขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงนี้ นายแพทย์ระพินทร์ กุก เรยา หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีสาเหตุมาจากการตีบตัน แคบลงของหลอดเลือดแดง เนื่องจากมีไขมันและคอเลสเตอรอลไปเกาะที่ผนัง ของหลอดเลือด โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกเมื่อมีการตีบตันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ในลักษณะเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรงมาก ๆ เครียด หรือหลังจากทานอาหารมื้อหนัก ส่วนมาก 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะเจ็บบริเวณกลางหน้าอก คล้ายมีอะไรบีบรัดหรือกดทับและอาจร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ซ้าย หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก หน้ามืด อาเจียน ซึ่งอาการเจ็บดังกล่าวหากนั่งพักจะหายไปเอง
แต่อาการที่น่ากลัวคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เคยมีอาการทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่น เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยทำงานที่ร่างกายแข็งแรงดีไม่เคยมีโรค จึงต้องเฝ้าระวังเพราะคนที่มีอาการจะทราบและดูแลตัวเองดี แต่คนที่ไม่มีอาการจะไม่ค่อยสังเกตตัวเองจึงเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดย ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เครียด ขาดการออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ผู้ชายอายุ 40 ปี ขึ้นไปแต่ปัจจุบัน 35 ปีขึ้นไปก็เริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเสริม เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ อดนอน กินอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีไขมันมาก ส่วนผู้หญิงจะมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้น ไปเนื่องจากดูแลตัวเองดีเลือก กินอาหารเพราะกลัวอ้วนและมีฮอร์โมนเพศหญิงช่วยคุมไขมัน
การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดเกิดขึ้นตั้งแต่ วัยเด็กเป็นปื้นสีเหลืองและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเรายังคงมีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง จึงสะสมเพิ่มจนกลายเป็นแอ่งไขมันในผนังมีเปลือกหุ้มไว้บาง ๆ เมื่อเปลือกหุ้มไขมันนี้ปริแตกออกทำให้ไขมันข้างใต้ออกมาสัมผัสเม็ดเลือดแดง และจับกันเป็นกลุ่มเกิดการ อุดตันหลอดเลือดทันที ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ดังนั้นหากมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง พักแล้วหาย ออกแรงใหม่ก็เป็นใหม่ เหนื่อยเร็วกว่าปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษา
การรักษาที่ดีที่สุดคือ การใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด ซึ่งที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและมีทีมงานพร้อม แพทย์ผู้ชำนาญจะใช้ ลวดเล็ก ๆ สอดผ่านหลอดเลือดที่ตันและทำการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง วิธีนี้พบว่าสามารถเปิดหลอดเลือดได้สำเร็จ 90 เปอร์เซ็นต์และมีประโยชน์มากกับผู้ป่วยที่หัวใจขาดเลือดจนช็อก ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่ตีบตันมากจะใช้วิธีการรักษาโดยการทานยาซึ่งไม่ สามารถทำให้หายขาดได้ แต่มีอาการตีบตันช้าลง ช่วยให้ไขมันที่เกาะทรงตัวได้ดีไม่ปริแตกรวมทั้งลดขนาดไขมันบางชนิด
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี บุคลากรและเครื่องมือในการรักษา และ เชื่อมั่นว่า ทางโรงพยาบาลฯ มีความพร้อมที่จะรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือคน ไทยให้ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง โดยร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้มีสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้ป่วยบัตรทอง) สามารถเข้ารับการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 30 เมษายน 2553 ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
วิธีการรักษาจะให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือทำการสวนหัวใจขยายหลอดเลือดที่อุดตัน ด้วยลูกโป่ง และมักจะใส่ขดลวดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือดไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถขอรับการรักษาได้เองและต้องมีบัตรทองที่ระบุโรงพยาบาลต้น สังกัดหรืออาจมาจากการส่งต่อ แต่ต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 1719
โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเป็นโรคร้ายแรงมีอัตราการเสีย ชีวิตสูง นายแพทย์ระพินทร์ จึงแนะนำว่าวิธีการรักษาต่าง ๆ เป็นแค่การรักษาเบื้องต้นเท่านั้นแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันก่อนที่โรคจะเกิดขึ้นหรือการเป็นซ้ำเพราะเส้นเลือดไม่มีการหยุด นิ่งอยู่กับที่ บางทีรักษาตรงนี้หายแต่อาจจะไปอุดตันที่บริเวณจุดอื่น จึงควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการควบคุมไขมันจากอาหาร เบาหวาน ความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเจาะเลือดตรวจไขมันเป็นประจำ รวมทั้งกินผักผลไม้ให้มากขึ้นด้วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น